top of page
รูปภาพนักเขียนSutipat Pairojboriboon

มะเร็งกระดูกสันหลัง มะเร็งกระดูก รักษาหายได้ผลดี หากรักษาอย่างถูกต้อง

จากข้อมูลสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยปี พ.ศ. ๒๕๕๘

พบว่าสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรไทยอันดับ ๑ คือ โรคมะเร็ง

ตามมาด้วย โรคหลอดเลือดในสมอง ปอดอักเสบ หัวใจขาดเลือดและอุบัติเหตุการจราจรทางบก

 

นอกจากนี้ผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งยังสูงขึ้นเรื่อยๆจาก ๖๐,๘๑๒ รายในปี พ.ศ. ๒๕๕๔

เพิ่มเป็น ๗๓,๓๔๘ รายในปี พ.ศ.๒๕๕๘ จึงเห็นได้ว่า โรคมะเร็ง เป็นภาวะสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ คุณภาพชีวิต และค่ารักษาพยาบาลของประเทศไทย

 

อนาคตมีแนวโน้มที่จะมีผู้ป่วยโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

การมีความรู้ในเรื่องมะเร็งจึงมีประโยชน์ในแง่การตระหนักถึงความเสี่ยงการเริดโรคมะเร็ง

และสามารถสงสัยอาการเริ่มต้นส่งผลให้มาพบแพทย์ได้ไว

กรณีผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยเร็วว่าเป็น มะเร็งระยะเริ่มต้นย่อมส่งผลให้การรักษาออกมาดีกว่ามะเร็งระยะท้าย

 

ประเภทของมะเร็งกระดูก

1.มะเร็งกระดูกที่มีต้นกำเนิดจากเซลล์กระดูกเอง (Primary Bone Cancer)

มะเร็งชนิดนี้ มีสาเหตุเกิดจากเซลล์ในร่างกายที่เปลี่ยนแปลงแบ่งตัวมากผิดปกติจนกลายเป็นเนื้องอกมะเร็ง พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์จากการคลำเจอก้อนตามร่างกาย ปวด กระดูกหัก หรือตรวจพบโดยบังเอิญ เช่น มะเร็งกระดูกชนิดออสทีโอซาร์โคมา (Osteosarcoma)

 

2.มะเร็งจากอวัยวะอื่นๆ แล้วลามมาที่กระดูก (Secondary Bone Cancer / Bone Metastasis) 

มักพบในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเป็นมะเร็งอยู่ก่อนแล้ว เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งไทรอยด์ มะเร็งไต มะเร็งเม็ดเลือด (multiple myeloma) แล้วลามมาที่กระดูก หากผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งแล้วมีอาการปวดกระดูก ภายหลังจากรักษาเบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้น ควรพิจารณาพบแพทย์เฉพาะทางมะเร็งกระดูกเพื่อตรวจเพิ่มเติม

 

 

ภาวะมะเร็งลามมากระดูก เกิดขึ้นได้อย่างไร

           

ทฤษฎีการเกิดภาวะมะเร็งลามมากระดูก (bone metastasis) เริ่มคิดค้นโดย Stephen Paget, M.A., F.R.C.S. ความรู้ที่คิดค้นขึ้นมาจากการชันสูตรศพ (Autopsy) ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจำนวน 735 ราย แล้วตั้งสมมุติฐาน “Seed & Soil” ขึ้นมา โดยสมมุติฐานนี้เชื่อว่าเมื่อเซลล์มะเร็งได้กำเนิดขึ้นขนาดมากกว่า 1-2 มม. จะต้องการอาหารมาเลี้ยงตนเอง ก้อนเนื้อมะเร็งนี้จึงปล่อยสัญญาณออกไปให้ร่างกายสร้างเส้นเลือดมาหล่อเลี้ยงตัวเนื้องอกมะเร็งให้มีชีวิตอยู่ได้ และอาศัยเส้นเลือดที่สร้างมาเลี้ยงตนเองนี้ขับถ่ายของเสียพร้อมกับนำเซลล์มะเร็งออกไปสู่กระแสโลหิตในร่างกายด้วย เซลล์มะเร็งที่ออกมาสู่กระแสโลหิตนี้จึงเปรียบเสมือน เมล็ดพันธุ์ (Seed) รอเวลาและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมไปเติบโตที่อวัยวะต่างๆ เช่น ปอด ตับ กระดูก เป็นต้น อวัยวะดังกล่าวนี้จึงเปรียบเสมือนผืนดินที่เหมาะสม (Soil) ที่เกิดภาวะ Metastasis

 

 

 

อาการของมะเร็งกระดูก

มะเร็งกระดูกอาจเกิดขึ้นที่กระดูกบริเวณใดก็ได้ แต่ส่วนมากมักพบที่กระดูกสันหลัง ซึ่งอาจส่งผลให้กระดูกสันหลังหัก ร่วมกับมีเนื้องอกมะเร็งมากดทับไขสันหลังหรือเส้นประสาท ผู้ป่วยอาจคลำได้ก้อน ร่วมกับมีอาการปวดหลังร้าวลงแขน-ขา บางครั้งอาจมีอาการชา แขนขาอ่อนแรง กรณีมารับการรักษาช้า อาจส่งผลให้มีปัญหาด้านการควบคุมปัสสาวะ-อุจจาระได้

     ตำแหน่งที่พบรองลงมาคือ มะเร็งกระดูกเชิงกรานและแขนขา ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการปวด อาจปวดตอนกลางคืน หรือปวดเมื่อเคลื่อนไหว เวลาเปลี่ยนท่า ยืน-เดิน บางครั้งสามารถคลำได้ก้อน ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจส่งผลให้กระดูกหักได้ ซึ่งกรณีกระดูกหักไปแล้วผลการรักษามักจะไม่ค่อยดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งกระดูกชนิดที่มีต้นกำเนิดจากเซลล์กระดูกเอง (Primary Bone Cancer)

 

อาการใดที่สงสัยภาวะมะเร็งกระดูก?

 

  1. คลำได้ก้อน

  2. มีโรคประจำตัวเป็นมะเร็ง เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด แล้วมีอาการปวดกระดูกโดยที่รักษาเบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้น หรือปวดเรื้อรัง

  3. ปวดกระดูกมากผิดปกติ แขนขาชา-อ่อนแรง

  4. น้ำหนักลด อ่อนเพลีย โดยไม่ทราบสาเหตุ

  5. ตรวจพบโดยบังเอิญ

 

การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งกระดูกทำได้อย่างไร?

เบื้องต้นแพทย์จะสอบถามอาการและตรวจร่างกายบริเวณที่ผิดปกติ และอาจพิจารณาตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม เช่น 

  • การตรวจเอกซเรย์ (Plain X-rays)

  • การทำ MRI Scan 

  • การทำ CT Scan 

  • การสแกนกระดูก (Bone scan) หรือ PET/CT scan

  • การตรวจชิ้นเนื้อ (Biopsy) 

 

การวินิจฉัยสามารถเป็นอะไรได้บ้าง? นอกจากมะเร็งกระดูก

 

  • ภาวะติดเชื้อในกระดูก ซึ่งเกิดได้ในกระดูกสันหลัง (TB / Bacterial Spondylitis) หรือกระดูกเชิงกราน-แขนขา (Osteomyelitis)

  • เนื้องอกในไขสันหลัง (Spinal cord tumor)

  • เนื้องอกชนิดไม่ร้าย (Benign bone tumor / Tumorlike masses)

  • กระดูกสันหลังที่คอ (Cervical Spondylosis) หรือเอว (Lumbar Spondylosis) เสื่อมตามวัย 

  • กระดูกสันหลังหักจากภาวะกระดูกพรุน (Osteoporotic Vertebral Fracture)

  • เนื้องอกชนิดเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Soft tissue tumor)

  • และอื่นๆ เช่น เนื้องอกถุงน้ำ (Paraspinal Cyst / Bursitis), เนื้องอกเส้นประสาท (Paraspinal nerve sheath tumor), เนื้องอกเส้นเลือด (Vascular tumor)

 

มะเร็งกระดูกรักษาได้อย่างไรบ้าง?

 

ในการรักษาโรคมะเร็งกระดูก จะขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรค 

  1. กรณีมะเร็งกระดูกที่มีต้นกำเนิดจากเซลล์กระดูกเอง (Primary malignant bone tumor) ถ้าพบได้ไว ไม่พบการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง มีโอกาสผ่าตัดรักษาให้หายขาดได้ โดยทีมแพทย์จะพิจารณาให้ยาเคมีบำบัด และรังสีรักษาตามความเหมาะสมในแต่ละราย ร่วมกับเทคนิคการผ่าตัดแบบนำเนื้องอกมะเร็งออกทั้งก้อน โดยไม่มีเซลล์มะเร็งปนเปื้อน

  2. กรณีมะเร็งจากอวัยวะอื่นๆ แล้วลามมาที่กระดูก (Bone metastasis) เป้าหมายการรักษาคือ เพิ่มคุณภาพชีวิต ลดปวด ลดภาวะแทรกซ้อน ให้ผู้ป่วยดูแลตนเองได้ใกล้เคียงชีวิตปกติให้มากที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้

 

มะเร็งกระดูก ผ่าตัดครั้งแรกสำคัญที่สุด

มะเร็งกระดูกที่มีต้นกำเนิดจากเซลล์กระดูกเอง เทคนิคการผ่าตัดที่เหมาะสมสามารถรักษาให้หายขาดจากมะเร็งได้ อย่างไรก็ตามถ้ารักษาผ่าตัดผิดวิธี โอกาสมะเร็งงอกซ้ำจะสูงมาก รวมถึงโอกาสการผ่าตัดแก้ไขก็แทบจะไม่มี เนื่องจากเกิดการปนเปื้อนของเซลล์มะเร็งในบริเวณที่เคยผ่าตัด

 



ทีมสหสาขาวิชาชีพ และเทคโนโลยีอุปกรณ์ผ่าตัดที่ทันสมัย มีความสำคัญต่อผลลัพธ์การรักษา


การรักษามะเร็งกระดูก จำเป็นต้องรักษาโดยทีมแพทย์เฉพาะทาง เช่น อายุรแพทย์ด้านมะเร็ง อายุรแพทย์โรคเลือด ศัลยแพทย์ แพทย์รังสีรักษา แพทย์รังสีวินิจฉัย พยาธิแพทย์ และอื่นๆ ทีมแพทย์จะร่วมกันวินิจฉัยและวางแผนการรักษาเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดในคนไข้แต่ละราย


เป้าหมายการรักษาผู้ป่วยมะเร็งลามมากระดูก หรือ Bone metastasis ส่วนใหญ่มักเน้นไปที่การประคับประคอง (Palliative treatment)


ปัจจุบันการรักษามีประสิทธิภาพโดยอาศัยทีความน่วมมือจากทีม สหสาขาวิชาชีพ (Multidisciplinary approach) ซึ่งประกอบไปด้วย

๑.แพทย์รังสีวิทยา (Musculoskeletal Radiologist) ช่วยแปลผลลักษณะทางคลินิกของภาพรังสีที่เกี่ยวข้อง

๒.พยาธิแพทย์ (Musculoskeletal Pathologist) ช่วยแปลผลชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา

๓.ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ด้านมะเร็งกระดูก (Orthopedic Oncologist) ช่วยรักษาผู้ป่วยโดยวิธีผ่าตัดเนื้องอกกระดูกมะเร็งและเนื้อเยื่ออ่อน

๔.ศัลยแพทย์ตกแต่ง (Plastic surgeon)

๕.ศัลยแพทย์เส้นเลือด (Vascular surgeon) ช่วยซ่อมแซมหรือสร้างเส้นเลือดเทียมกรณีมะเร็งทำลายเส้นเลือด

๖. อายุรแพทย์เคมีบำบัด (Medical Oncologist) ช่วยให้ยาเคมีบำบัดในผู้ป่วยผู้ใหญ่

๗.แพทย์รังสีรักษา (Radiation therapist) ช่วยฉายแสงรังสีรักษาในผู้ป่วยมะเร็ง ส่งผลให้การรักษามีประสิทธิภาพ ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดอาการปวด ยืนเดินได้ใกล้เคียงคนปกติ ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ใกล้เคียงคนธรรมดาทั่วๆไป



ดู 3 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

การผ่าตัดเนื้องอกกระดูกและเนื้อเยื่ออ่อนในเด็ก

บทนำ การผ่าตัดมะเร็งกระดูกในเด็กที่ยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่เป็นการผ่าตัดที่ค่อนข้างท้าทาย เนื่องจากการผ่าตัดกระดูกออกอาจส่งผลให้การเจริญเ...

Comments


bottom of page